งบประมาณรายจ่าย คือ จำนวนเงินที่อนุญาตให้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ตามวัตถุประสงค์และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ซึ่งการกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมาก เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐสามารถบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินงานเป็นไปได้ตามแผน และมีการใช้ทรัพยากรทุกประการอย่างโปร่งใส
ความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นก็คือ การจัดการทรัพยากรทางการเงิน งบประมาณเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดทรัพยากรทางการเงินให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการ มีผลทำให้การจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยกำหนดลำดับความสำคัญของกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ และควบคุมการใช้ทรัพยากรงบประมาณรายจ่าย เพื่อป้องกันการใช้เกิน และสามารถตรวจสอบได้ว่าทุกกิจกรรมมีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม
งบประมาณรายจ่ายประจำปีสำคัญต่อผู้หางานประมูลภาครัฐอย่างไร
ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น การติดตามประกาศงบประมาณประจำปีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รู้ทันถึงโครงการที่กำลังจะประกาศ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการเงินล่วงหน้า หรือเงินธุรกิจสำรองเมื่อพบกับปัญหาที่ผู้เข้าประมูลหลายท่านมักพบกันบ่อยๆ นั่นก็คือ ในบางโครงการอาจจะได้รับเงินล่าช้า เนื่องจากเป็นโครงการที่ราชการต้องรอได้งบข้ามปี แล้วค่อยมาเบิกจ่ายผู้ประกอบการทีหลัง นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการต้องทำการหมุนเงินเองก่อนเพื่อดำเนินการให้เสร็จตามสัญญา ผู้ประกอบการบางรายหมุนเงินไม่ทัน ก็อาจต้องกู้เงินเพื่อมาหมุน ทำให้เสียดอกเบี้ย รายได้ลดลง กำไรลดลง การศึกษาข้อมูลในด้านงบประมาณไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ภาพรวมของงานประมูลนั้นๆ เพื่อวางแผนงบประมาณได้รอบคอบมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เตรียมตัวทันก่อนการเข้าประมูล
วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับการประกาศงบประมาณว่ามีขั้นตอนอย่างไร และในปี 2567 จะมีประกาศวันที่เท่าไหร่
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะประกาศใช้วันไหน
วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้เผยแพร่ประกาศ เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงทำให้ออกประกาศพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และคาดว่าประกาศฉบับใหม่ประจำปี 2567 จะแล้วเสร็จพร้อมนำร่างขึ้นทูลเกล้าภายในเดือนเมษายน 2567
ประเภทของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
สำหรับรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ สามารถจำแนกออกเป็น 5 ประเภทงบรายจ่าย ได้แก่ 1. งบบุคลากร 2. งบดำเนินงาน 3. งบลงทุน 4. งบเงินอุดหนุน 5. งบรายจ่ายอื่น
1. งบบุคลากร
คือรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว
2. งบดำเนินงาน
คือรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานประจำ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค
3. งบลงทุน
คือรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการลงทุน ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่า ครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายจ่ายเพื่อจ้างที่ปรึกษาในการจัดหาหรือปรับปรุงครุภัณฑ์
4. งบเงินอุดหนุน
คือรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเป็นค่าบำรุงหรือเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ใช่ราชการส่วนกลางตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่กำหนดไว้
5. งบรายจ่ายอื่น
คือรายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะประเภทงบรายจ่ายใดงบรายจ่ายหนึ่ง หรือ รายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่าย เช่น เงินราชการลับ รายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ค่าใช้จ่ายสำหรับกองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียน
ใครเป็นผู้จัดทำงบประมาณปี 2567
การจัดทำงบประมาณประจำปีจะจัดทำโดยสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลัก โดยร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการดังนี้
ขั้นตอนการวางแผนและทบทวนงบประมาณ
โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
1. วันที่ 13 กันยายน 2566
– สํานักงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2567
– ข้อเสนอเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วย ความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสําคัญของรัฐบาล
– การจัดทํางบประมาณรายจ่ายบูรณาการและมอบหมายผู้มีอํานาจกํากับแผนงานบูรณาการ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2. วันที่ 12-13 กันยายน 2566
– คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลางและนําเสนอคณะรัฐมนตรี
3. วันที่ 14-18 กันยายน 2566
– กระทรวงการคลัง สํานักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสํานักงบประมาณ ร่วมกันทบทวนการประมาณการรายได้ กําหนดนโยบายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายและโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนําเสนอคณะรัฐมนตรี
– คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
4. วันที่ 13 กันยายน – 6 ตุลาคม 2566
– หน่วยรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่มีรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรายละเอียดคําของบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
– รายการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาท ขึ้นไปให้ทําการประเมิน ความเสี่ยงการทุจริตตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนเสนอรายละเอียดคําของบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
– หน่วยรับงบประมาณดําเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทําคําของบประมาณรายจ่ายประจําปี โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ และความต้องการของประชาชน
– นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
– คณะกรรมการจัดทํางบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณา ทบทวนและให้ความเห็นชอบขอบเขต เป้าหมาย แนวทางการดําเนินงาน ตัวชี้วัด และ ข้อเสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ส่งสํานักงบประมาณ
ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ
โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้จะอยู่ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566
5. วันที่ 13 กันยายน – 6 ตุลาคม 2566
– หน่วยรับงบประมาณ ปรับปรุงคําของบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่แสดงวัตถุประสงค์แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยรับงบประมาณ เป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนโยบายงบประมาณวงเงินโครงสร้างงบประมาณ โดยบูรณาการงบประมาณในมิติหน่วยรับงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ แผนพัฒนาพื้นที่ความต้องการของประชาชน รวมทั้งนําข้อเสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณเพื่อใช้ประกอบการจัดทํารายละเอียดคําของบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสํานักงบประมาณในรูปแบบเอกสารและผ่านระบบ e- Budgeting
6. วันที่ 7 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566
– สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดงบประมาณประจำปี 2567 พร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567
วันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2566
– สำนักงบประมาณ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567
7. วันที่ 21 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566
– คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และให้สำนักงบประมาณ จัดพิมพ์ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ
8. วันที่ 12 – 22 ธันวาคม 2566
– สำนักงบประมาณพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
วันที่ 26 ธันวาคม 2566
– คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พร้อมนำเสนอสภาผู้แทนราษฏร
ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณ
ในขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณนี้จะเริ่มในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2567 ซึ่งอาจล่าช้าถึงเดือนพฤษภาคม
9. วันที่ 3-4 มกราคม 2567
– สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทั้งหมด 3 ครั้ง
10. วันที่ 9-10 เมษายน 2567
– วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
11. วันที่ 17 เมษายน 2567
– สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นําร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ซึ่งนี่ก็คือภาพรวมของการประกาศร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะใช้งานในการประมูลงานภาครัฐ ซึ่งการเตรียมพร้อมกับประกาศร่างงบประมาณฉบับใหม่นั้น การรู้ข้อมูลของงานประมูลก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เข้าประมูลควรรู้ โดย G-LEAD สามารถช่วยให้คุณรู้ทันทุกงานประมูลภาครัฐ รู้ทุกข้อมูลชิงลึกของงานประมูลที่คุณกำลังสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลด้านงบประมาณ ผู้ชนะการประมูล โครงการที่ตรงกับธุรกิจของคุณ รวมถึงเอกสารสำคัญของงานประมูล ฯลฯ เพื่อให้เตรียมพร้อมวางแผนกลยุทธ์การเข้าประมูลกับทางภาครัฐในปี 2567 ได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มโอกาสในการเข้าประมูลภาครัฐ เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้หลักหลายล้านให้กับธุรกิจ
ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ทดลองใช้งาน G-LEAD ฟรี
ขอบคุณข้อมูลจาก