โครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหนึ่งในโครงการที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ต้องมีการจัดทำราคากลาง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด โดยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ให้ความหมายของ ราคากลางงานก่อสร้าง หมายถึง ราคาค่าก่อสร้างในงานก่อสร้างของทางราชการในแต่ละงานโครงการที่มีความเป็นปัจจุบัน ซึ่งได้จากการคำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในกระบวนการจัดจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และเพื่อการอื่น
สำหรับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างไปใช้ในการคำนวณให้สอดคล้องกับค่าก่อสร้างจริง ทำให้ทุกหน่วยงานคำนวณเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดการสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น
ซึ่งหลักการในการคำนวณราคากลางของงานประมูลก่อสร้างนั้นก็เป็นสิ่งที่ผู้เข้าประมูลควรต้องรู้ไว้ เพื่อใช้ในการวางแผนการเข้าประมูล รวมถึงการดูแนวโน้มราคาของตลาดงานประมูลที่สนใจเพื่อนำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์และต่อยอดให้กับธุรกิจได้
รูปแบบงานก่อสร้างที่ต้องมีการคำนวณราคากลาง
จากแนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ได้อธิบายถึงรูปแบบของงานก่อสร้างที่จะต้องมีการคำนวณราคากลาง คือ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม การประกอบ การติดตั้ง และหรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อการสร้าง อาคาร โครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภค จะต้องมีการคำนวณราคากลางทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงวงเงินหรืองบประมาณของงานก่อสร้าง ซึ่งกิจกรรมในการดำเนินงานทั้งหมดนี้จะยังรวมความถึงการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง 4 ด้านด้วยกันคือ
1. การปรับปรุง
คือการแก้ไข หรือการดำเนินการเพื่อให้สิ่งก่อสร้างที่ก่อสร้างไว้อยู่แล้วคงสภาพเดิม หรือให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น
2. การรื้อถอน
คือการรื้อ หรือดำเนินการเพื่อนำส่วนประกอบ โครงสร้างของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดออก
3. การต่อเติม
คือ การดัดแปลง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ในโครงสร้างหรือส่วนต่างๆ ของสิ่งก่อสร้างที่ก่อสร้างไว้อยู่แล้วให้แตกต่างจากเดิม แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม
4. การซ่อมแซม
คือ การซ่อม หรือการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง ให้คงสภาพหรือมีสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ
การซ่อมแซมทั้ง 4 ด้าน จะต้องมีการจัดทำรายการและการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาดำเนินการด้วย
ภาพรวมหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลาง
หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคา โดยมีขั้นตอนคือ
- ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
- ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคาร หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทาง สะพานและท่อเหลี่ยม และหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน
- การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานจำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ให้ดำเนินการต่อไป
- การใช้งานระบบคำนวณราคากลางงานก่อสร้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์สำหรับทุกหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด
2. คณะกรรมการกำหนดราคากลาง
เป็นผู้ที่มีหน้าที่และรับผิดชอบในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างภายใต้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ดังต่อไปนี้
ในการจ้างก่อสร้างแต่ละครั้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง โดยให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- องค์ประกอบ ประกอบด้วย ประธานซึ่งเป็นข้าราชการหรือเทียบเท่าโดยคำนึงถึงลักษณะงานหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสำคัญ 1 คน และให้มีกรรมการอย่างน้อย 2 คน กรรมการควรแต่งตั้งจากข้าราชการหรือเทียบเท่า โดยคำนึงถึงลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสำคัญ โดยจะแต่งตั้งบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการก่อสร้างนั้น
- อำนาจหน้าที่ คณะกรรมการกำหนดราคากลางมีหน้าที่รับผิดชอบคำนวณราคากลางงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง แล้วนำเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการจัดทำรายงานขอซื้อขอจ้าง
- การคำนวณราคากลางจะทำตามสูตรดังนี้
ผลต่าง (ราคากลาง − ราคาที่เสนอ)
ส่วนต่างร้อยละ = __________________________ × 100
ราคาของผู้เสนอราคา (ราคาที่เสนอ)
- ระยะเวลาของราคากลาง กรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐได้ให้ความเห็นชอบราคากลางงานก่อสร้างที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้คำนวณไว้แล้ว และยังไม่ประกาศสอบราคาภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐได้ให้ความเห็นชอบ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างนั้นพิจารณาทบทวนราคากลางให้มีความเป็นปัจจุบัน แล้วนำเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการประกาศสอบราคา
3. วิธีประกาศ
หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะต้องจัดทำประกาศข้อมูลและการคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างผ่านทาง 2 เว็บไซต์
-ระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง (www.gprocurement.go.th)
-ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่มีเว็บไซต์ของตนเอง ให้ประกาศหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐที่เป็นต้นสังกัด
4. ระยะเวลาที่ประกาศ
แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
4.1 กรณีที่จัดหาที่มีการประกาศเชิญชวน เช่น วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีอื่นใดอันมีลักษณะที่ต้องประกาศเชิญชวนให้มีการแข่งขันเสนอราคา ให้หน่วยงานของรัฐประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลาง ดังนี้
- กรณีมีการนำร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ประกาศพร้อมกับร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างดังกล่าว
- กรณีไม่มีการนำร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ประกาศพร้อมกับการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง
เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการประกาศรายละเอียดการข้อมูลราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐอาจปลดประกาศดังนี้
- เมื่อผู้มีอำนาจอนุมัติการสั่งซื้อสั่งจ้าง ได้มีคำสั่งรับคำเสนอซื้อหรือจ้างแล้ว
- เมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาผลเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง
4.2 กรณีจัดซื้อจัดจ้างไม่มีการประกาศเชิญชวนให้หน่วยงานของรัฐประกาศรายละเอียดข้อมูล ราคากลางและการคำนวณราคากลางภายใน 3 วันทำการ นับถัดจากวันที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐได้ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติรายงานขอซื้อขอจ้าง โดยอาจปลดประกาศเมื่อได้ประกาศครบ 30 วันแล้ว
ราคากลางเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ธุรกิจสามารถรู้ถึงข้อมูลของราคากลางของตลาดเพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มของโครงการนั้นๆ รวมถึงการวิเคราะห์คู่แข่งโดย G-LEAD แพลตฟอร์มช่วยรวมข้อมูลเชิงลึกในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รู้ข้อมูลราคากลางได้รวดเร็ว พร้อมข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ในโครงการที่คุณสนใจแบบวันต่อวัน รวมถึงข้อมูลย้อนหลัง เพื่อให้คุณเห็นภาพรวมของตลาดเพื่อนำไปวิเคราะห์ธุรกิจและต่อยอดความสำเร็จไปอีกขั้น
อ้างอิง
- กรมบัญชีกลาง. แนวทาง วิธีปฏิบัติและรายละเอียดประกอบการถอดแบบคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง. 2560.
กรมสรรพสามิต. การจัดทำราคากลางของพัสดุที่จะซื้อหรือจะจ้างฯ. 2564.